ประวัติองค์กร

“ดอยคำ” ก่อตั้งขึ้นจากแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๙ ที่มีพระราชประสงค์ในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของไทย ทรงก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้นในพื้นที่การเกษตร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ดำเนินการส่งเสริม รับซื้อ พัฒนา และแปรรูปผลผลิต เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพที่มีคุณภาพ ในราคาเป็นธรรม โดยเริ่มต้นเพียง ๑๐ รายการ ใน ๒ กลุ่มสินค้า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ได้จัดตั้งองค์กรเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป ด้วยการเป็นต้นแบบองค์กรภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจการตามศาสตร์แห่งพระราชา ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างยั่งยืน จวบจนปัจจุบัน ดอยคำมีสินค้ากว่า ๒๒๐ รายการ ใน ๒๓ กลุ่มสินค้า โดยในปี ๒๕๖๖ ดอยคำมีร้านสาขากว่า ๓๐ แห่ง และร้านครอบครัวดอยคำ (แฟรนไชส์) อีก ๑๕ สาขาทั่วประเทศ

ปัจจุบัน บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ดำเนินงานผ่าน โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ๓ แห่ง ได้แก่

  • โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่
  • โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) จังหวัดเชียงราย
  • โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร

โดยโรงงานหลวงฯ ทั้ง ๓ แห่ง มีส่วนในการพัฒนาชุมชนชนบทตามศาสตร์ของพระราชา และโมเดลของดอยคำ กว่า ๒,๐๐๐ ครัวเรือน รวมถึงการพัฒนาการศึกษาด้วยการพัฒนาโรงเรียนในบริเวณรอบโรงงานหลวงฯ และบำรุงพุทธศาสนาด้วยการพัฒนาวัดให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแก่คนในชุมชน จะเห็นได้ว่า ดอยคำมีการดำเนินงานที่เป็น ธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนรอบด้านทั้งการพัฒนาเกษตรกร ชุมชน และสังคม

ผลผลิตหลักที่ดอยคำเป็นผู้นำตลาดเพื่อการพัฒนาชนบท คือ น้ำมะเขือเทศ จากผลผลิตมะเขือเทศที่สดใหม่ จึงได้น้ำมะเขือเทศที่มีคุณภาพดีที่สุดในท้องตลาด เฉกเช่นผลผลิตจากสตอรว์เบอร์รี ทั้งผลสดที่มอบความสดใหม่ในความหวานที่ควรบริโภคผลสด และสตอรว์เบอร์รีอบแห้งที่ผลิตจากสตอรว์เบอร์รี พันธุ์พระราชทาน ๘๐ ทำให้ได้เนื้อสัมผัสที่ชุ่มฉ่ำไม่แห้งจนเกินไป และจะขาดไม่ได้คือ น้ำเสาวรส จากเสาวรสพันธุ์สีเหลืองจึงเป็นน้ำเสาวรสที่มีความหอมหวานและรสชาติดีกว่าพันธุ์อื่นๆ

เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทย