บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป ด้วยการเป็นต้นแบบองค์กรภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมตามศาสตร์แห่งพระราชา ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เพื่อการปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นนักพัฒนาอาสาเพื่อสังคมของเยาวชนไทยให้มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละต่อสังคม และการมีจิตสาธารณะ โดยปัจจุบันการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ของ สพฐ. มีการจัดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โดยมีกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และท้องถิ่นตามความสนใจในลักษณะอาสาสมัคร
บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริ และเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (CSR on Process) ที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาทั้งชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงจัดกิจกรรม “เยาวชนหัวใจดอยคำ” ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยการนำเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาร่วมทำ “ฝายดอยคำ” อันเป็นไปตามนโยบายการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายให้เยาวชนที่มีหัวใจจิตอาสา ทำกิจกรรมเพื่อสังคมและส่วนรวม ไม่ต่ำกว่าปีละ 30 ราย โดยมอบประกาศนียบัตรกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม ให้เป็นการตอบแทนในความเสียสละต่อส่วนรวมต่อไป
สำหรับ “ฝายดอยคำ” เป็นฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว จัดอยู่ในประเภทฝายแม้ว (เป็นชื่อเรียกโครงการตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับวิศวกรรมแบบพื้นบ้าน) เป็นฝายชะลอน้ำที่ทำจากไม้ไผ่ ถูกออกแบบเพื่อให้มีความแข็งแรงคงทน และสามารถทำหน้าที่ชะลอน้ำในระยะยาวได้แม้ว่าไม้ไผ่จะผุพังย่อยสลายไปแล้ว ซึ่งฝายตามแนวพระราชดำริประเภทฝายไม้นี้ จะมีฝายอีก 2 รูปแบบที่นิยมสร้างกันคือ ฝายไม้แนวเดียว และฝายคอกหมู โดยทั้ง 3 รูปแบบมีความแตกต่างกันดังนี้
- ฝายไม้แนวเดียว เป็นฝายที่ทำจากไม้ สร้างโดยการปักไม้เสาเป็นระยะๆ 30 ถึง 0.50 เมตร แล้วนำไม้มาสอดเรียงในแนวนอนแล้วยึดติดกัน แล้วใช้วัสดุที่มีน้ำหนักมาถมด้านหน้าตลอดแนวซึ่งอาจเป็นดินหรือหินก็ได้เพื่อให้เกิดความมั่นคง
- ฝายคอกหมู เป็นฝายลักษณะเดียวกันกับฝายไม้แนวเดียว แต่จะทำการปักไม้เสาเป็นสองแนวห่างกันเท่ากับความสูงของฝาย พร้อมมีการยึดแถวหน้ากับแถวหลังเข้าด้วยกัน ด้วยไม้ในแนวนอนที่ฝังปลายเข้าไปในตลิ่งทั้งสองด้านแล้วนำวัสดุใส่ระหว่างกลางจะเป็น หิน ดิน หรือวัสดุอื่นๆ ในพื้นที่
- ฝายดอยคำ เป็นฝายที่ทำมาจากไม้ไผ่ ลักษณะเหมือนฝายคอกหมูแต่มี 3 ชั้น ใช้ลำไม้ไผ่ตัดเป็นท่อน ตอกลงดินเรียงเป็นแนวผนังขวางกับร่องน้ำโดยให้ผนังด้านข้างสูงกว่าตรงกลาง ปลูกหญ้าแฝกตรงคันดินด้านข้างระหว่างฝายแต่ละชั้น พื้นที่ตรงกลางฝายให้เป็นทางน้ำไหล หญ้าแฝกจะช่วยยึดหน้าดินไว้ให้คงความเป็นคันดิน ทำหน้าที่ชะลอน้ำต่อไปหากไม้ไผ่ผุพังย่อยสลาย
โดยปกติโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จะร่วมกับชาวบ้าน และหน่วยงานในพื้นที่ทำฝายดอยคำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ยังตั้งเป้าให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมและได้เรียนรู้ประโยชน์ของการทำฝายดอยคำ ซึ่งเป็นฝายที่ช่วยในการกักเก็บน้ำให้พื้นดินมีความชุ่มชื้นในช่วงฤดูแล้ง เป็นแหล่งน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และชาวบ้านในชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ทั้งยังช่วยลดความแรงของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำหากมีฝนตกหนักหรือน้ำป่าไหลหลาก ช่วยป้องกันความเสียหายแก่ชุมชนและโรงงานหลวงฯ เนื่องจากเป็นฝายชั่วคราว วัสดุที่ใช้ทำฝายเป็นวัสดุธรรมชาติ มีอายุการใช้งาน 1-2 ปี จึงไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม