“ดอยคำ” จัดโครงการสื่อสัญจร (Press Tour) ประจำปี 2565 นำสื่อมวลชนเรียนรู้เส้นทางการกำเนิดดอยคำ ตามศาสตร์พระราชา ณ โรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่

“ดอยคำ” จัดโครงการสื่อสัญจร (Press Tour) ประจำปี 2565 นำสื่อมวลชนเรียนรู้เส้นทางการกำเนิดดอยคำ ตามศาสตร์พระราชา ณ โรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่

เพื่อให้สื่อมวลชนได้เรียนรู้เส้นทางการกำเนิดดอยคำตามศาสตร์พระราชา ด้วยการพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพจากชุมชน จากผลผลิตของเกษตรกรไทย จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพภายใต้ตราสินค้าดอยคำ และการพัฒนา ต่อยอด เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกรไทยจวบจนถึงปัจจุบัน บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จัดโครงการสื่อสัญจร (Press Tour) ประจำปี 2565 ที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 7 – 9 มีนาคม พ.ศ.2565

ด้วย บริษัทฯ เป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงก่อตั้ง โดยมีพระราชปณิธานให้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน มาแปรรูปผ่านโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปทั้ง 3 แห่ง ตีตราผลิตภัณฑ์สินค้า “ดอยคำ” ปัจจุบัน บริษัทฯ ดำเนินงานตามพระปฐมบรมราชโองการ สืบสาน รักษา และต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10

สำหรับ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ เกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและทุกข์ยากของราษฎรจากการถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาและลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่และมีรายได้ที่ดีขึ้น ปัจจุบันเป็นโรงงานหลวงฯ แห่งนี้ ได้รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรไทยในราคาที่เป็นธรรมและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพของดอยคำ

ล่าสุด โรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ แห่งนี้ ได้พัฒนาและต่อยอดในสายการผลิต สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งแบบหลอดและผลิตภัณฑ์ทาขนมปังแบบหลอดที่มาพร้อมดีไซน์ฝาบีบแบบใหม่ ที่ปาดง่าย กระจายได้ดี เพื่อให้ผู้บริโภคยุคปัจจุบันสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งสายการผลิตล่าสุดนี้ เป็นการพัฒนาและต่อยอดเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย

 

พร้อมกันนี้ เพื่อการเรียนรู้และการวิจัย ดอยคำได้ขยายพื้นที่ในส่วนของ “โรงเก็บผลิตภัณฑ์เกษตร และโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช” โดยมีการนำเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรสมัยใหม่มาค้นคว้า ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช รวมถึงมีโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม ที่ออกแบบเป็นอาคารหลังคาโค้งคลุมพลาสติกแบบน็อกดาวน์ มีจำนวนทั้งหมด 14 หลัง โดยแบ่งพื้นที่ให้เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเกษตรจากดอยคำ เข้าร่วมโครงการทดลองการผลิตสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม และส่วนหนึ่งดอยคำใช้ทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีที่ได้ปรับปรุงสายพันธุ์ด้วย

 

“ดอยคำ” มุ่งมั่นที่จะ สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามศาสตร์พระราชา สู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง