เนื่องในวาระครบรอบ 27 ปี ของบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และพนักงาน ขอถือโอกาสส่งต่อพลังความรัก ความห่วงใย แทนคำขอบคุณจากใจฅนดอยคำ เพื่อเป็นกำลังใจให้คนไทยผ่านพ้นทุกวิกฤตที่เกิดขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา19 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบไปต่อทุกภาคส่วนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งดอยคำพร้อมที่จะเคียงข้างเพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาไปพร้อมๆกับคนไทยทุกคน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2537 วันแรกที่ดอยคำจัดตั้งองค์กรเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป ด้วยการเป็นต้นแบบองค์กรธุรกิจที่ดำเนินกิจการตามศาสตร์พระราชา ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนจวบจนปัจจุบัน
ด้านเศรษฐกิจ : ดอยคำ ได้กำหนดกรอบการทำงานไว้ว่า “บริษัทต้องมีกำไรพอเพียงเลี้ยงตัวเองได้” เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไป โดยผลกำไรจะถูกนำมาใช้ในการดูแล ฅนดอยคำ รวมทั้งนำกลับมารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บางส่วนนำมาใช้ในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าคุณภาพที่ดีในราคาที่เป็นธรรม
โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าผลกำไรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2-2.5 แต่จะไม่เกินร้อยละ 10 หากปีไหนได้ผลกำไรเกินร้อยละ10 บริษัทฯ จะพิจารณาทบทวนในเรื่องของการเพิ่มปริมาณการรับซื้อผลผลิตจากเกษตร การดำเนินงานในลักษณะนี้จะช่วยให้รากแก้วของสังคมและชุมชนไทยเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ด้านสังคม : ดอยคำ ดำเนินงานเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงงานหลวงฯ ทั้ง 3 แห่ง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนตามศาสตร์ของพระราชา และโมเดลของดอยคำกว่า 2,000 ครัวเรือน ได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาด้วยการพัฒนาวัดให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแก่คนในชุมชน ผ่านโครงการวัดของเรา วัดของชุมชน ทั้งนี้ยังได้พัฒนาการศึกษาด้วยการพัฒนาโรงเรียนในบริเวณโดยรอบโรงงานหลวงฯ การมอบความรู้แก่เกษตรกรกับโครงการส่งเสริมความรู้ด้านพืชเกษตร การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ยุวมัคคุเทศก์ ยุวเกษตร และเยาวชนที่ช่วยเหลือสนับสนุนงานโรงงานหลวงฯ ทั้ง 3 แห่ง ทำให้เด็กเยาวชนได้มีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น
อีกทั้งดอยคำยังได้สร้างพื้นที่การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้านและยั่งยืน ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต (Living SITE MUSEUM) โดยจะพัฒนาโรงงานหลวงฯ และพื้นที่ โดยรอบให้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ (A Platform for Learning Experience) เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ได้เรียนรู้ จากประสบการณ์จริงในชุมชน ซึ่งจะทำให้สังคมชุมชนเกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน