“ดอยคำ” ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการ “ดอยคำร่วมรักษ์ช้าง ผลักดันไม้ฝาง เพื่อเกษตรกรไทย” นำสมุนไพรแก่นฝางมาเป็นวัตถุดิบ พร้อมสนับสนุนการแก้ปัญหาช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม

“ดอยคำ” ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการ “ดอยคำร่วมรักษ์ช้าง ผลักดันไม้ฝาง เพื่อเกษตรกรไทย” นำสมุนไพรแก่นฝางมาเป็นวัตถุดิบ พร้อมสนับสนุนการแก้ปัญหาช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม

14 มกราคม พ.ศ.2565 : บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการ “ดอยคำร่วมรักษ์ช้าง ผลักดันไม้ฝาง เพื่อเกษตรกรไทย” ระหว่าง บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.) เพื่อนำแก่นฝางมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด ภายใต้แนวคิด สนับสนุนการแก้ปัญหาช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม

โดยมี นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ นายทวีศักดิ์ เลาหวิโรจน์ รองผู้จัดการใหญ่ (ด้านนวัตกรรมและการผลิต) บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด นายรักษา สุนินทบูรณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.) ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ประธานที่ปรึกษากรรมการบริหารวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.) นางสาวจารุวรรณ ทองใบ รักษาการหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร นายอดิศร สุทธิเลิศ พัฒนาการจังหวัดจันทบุรี นายฐกร ค้าขายกิจธวัช รักษาการหัวหน้าศูนย์การศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมพิธีฯ ณ นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกทรายขาว องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมถ์ อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี

นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นบริษัทต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise) ที่ดำเนินงานทั้งการผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารแปรรูปจากผลผลิตเกษตรในชุมชน โดยมุ่งมั่นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ด้วยการใช้แนวทางบริหารตามศาสตร์พระราชา ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างยั่งยืน

“การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการ “ดอยคำร่วมรักษ์ช้าง ผลักดันไม้ฝาง เพื่อเกษตรกรไทย” ครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแก่นฝางในระบบวนเกษตรเป็นวัตถุดิบในภาคตะวันออก ส่งให้กับบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยไม่เบียดเบียนป่าธรรมชาติ แต่จะเป็นวิธีในการสร้างป่าที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชน โดยแก่นฝางในพื้นที่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ดอยคำจะนำมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์เป็นน้ำสมุนไพร โดยหวังว่าจะเป็นเครื่องดื่มดับกระหาย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพให้กับทุกคน ในปี พ.ศ.2565 นี้เป็นต้นไป”  นายพิพัฒพงศ์ กล่าว

นายทวีศักดิ์ เลาหวิโรจน์ รองผู้จัดการใหญ่ (ด้านนวัตกรรมและการผลิต) เปิดเผยว่า ดอยคำพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มาจากสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับ น้ำสมุนไพรพร้อมดื่ม ได้แก่ น้ำชาเขียว รสต้นตำรับ น้ำตะไคร้ผสมขิงและใบเตย น้ำมะขามผสมน้ำผึ้ง น้ำมะตูม น้ำเก๊กฮวยและคาโมไมล์ น้ำเจียวกู้หลานและดอกคำฝอย น้ำเห็ดหลินจือผสมน้ำผึ้ง รวมถึงเครื่องดื่มเข้มข้น เช่น เครื่องดื่มกระชายสกัดเข้มข้นผสมน้ำผึ้งและมะนาว เครื่องดื่มเห็ดหลินจือสกัดเข้มข้นผสมน้ำผึ้งและมะนาว เครื่องดื่มตรีผลาสกัดเข้มข้น และผลิตภัณฑ์ใหม่ สารสกัดฟ้าทะลายโจร

“สำหรับแก่นฝาง ดอยคำได้พัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์โดยใช้แก่นฝางเป็นวัตถุดิบ โดยเล็งเห็นว่าแก่นฝางมีสารสำคัญ จากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ พบว่ามีสารสำคัญ จำนวน 4 ชนิด ซึ่งสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสรวมถึงเชื้อ SARS-CoV-2 หรือไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ได้ และยังเป็นการสนับสนุนการแก้ปัญหาช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมอีกด้วย” นายทวีศักดิ์ กล่าว
“ฝาง” เป็นต้นไม้ที่สามารถเจริญเติบโตในทุกสภาพภูมิอากาศภูมิประเทศในประเทศไทย สามารถปลูกร่วมกับไม้ชนิดอื่นๆ ได้โดยไม่มีปัญหาในระบบนิเวศ เป็นต้นไม้ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูก โดยเฉพาะประชาชนผู้ประสบปัญหาช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากช้างป่าไม่กินและไม่ทำลาย สามารแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค (ข้อมูลจาก หนังสือประชาสัมพันธ์การจัดการความรู้ เรื่องไม้ฝาง พันธุ์ไม้ที่ช้างไม่ชอบและไม่ทำลาย : กรมป่าไม้และสถานีวนวัฒนวิจัยเขาสอยดาว)
สำหรับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างฯ จัดตั้งขึ้นมาจากมติของประชาชนผู้ที่ประสบภัยช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมในภาคตะวันออก ด้วยการสนับสนุนและผลักดันโดยสถานีวนวัฒนวิจัยเขาสอยดาว กรมป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนที่ประสบปัญหาช้างบุกรุกสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยการสร้างป่าในรูปแบบวนเกษตร ป่าครอบครัว ซึ่งพืชที่ปลูกเป็นชนิดที่ช้างป่าไม่กิน ร้อยละ 90.0 ของพื้นที่ และปลูกพืชที่ช้างป่ากิน ร้อยละ 10.0 ของพื้นที่

ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างฯ มีแนวทางการดำเนินงานในการส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชในระบบวนเกษตรป่าครอบครัว เกษตรทฤษฎีแนวใหม่ เกษตรกรผสมผสาน และเกษตรอินทรีย์ ซึ่งขายกล้าไม้ฝาง พืชสมุนไพร และการค้าไม้ท่อนไม้ซุงไม้แปรรูป มาแปรรูปเชิงพาณิชย์เพื่อทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ และดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาไม้ฝางอื่นๆ เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อผู้บริโภค

ดอยคำ โรงงานหลวงฯ ที่ 2 (แม่จัน) จ.เชียงราย ร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตร ณ วัดป่าห้า จ.เชียงราย พร้อมต้อนรับนายอำเภอ และหน่วยงานราชการ เข้าเยี่ยมชมโรงงานฯ

ดอยคำ โรงงานหลวงฯ ที่ 2 (แม่จัน) จ.เชียงราย ร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตร ณ วัดป่าห้า จ.เชียงราย พร้อมต้อนรับนายอำเภอ และหน่วยงานราชการ เข้าเยี่ยมชมโรงงานฯ

วันนี้ (11 มกราคม พ.ศ.2565) บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยมี นางสาวธนมนพร เตชะตน ผู้จัดการโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และพนักงาน ร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตร ณ วัดป่าห้า (วัดเบญจพัฒนามงคล) ต.ป่าซาง อ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยมีนายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทาน สถานีอนามัยพระราชทาน และโรงงานหลวงฯ ที่ 2 (แม่จัน) จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2517

หลังจากกิจกรรมทำบุญตักบาตร นางสาวธนมนพร เตชะตน ผู้จัดการโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และพนักงาน ต้อนรับ นายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่จัน นายประจวบ เจริญพร ผู้อำนวยการสาธารณสุขอำเภอแม่จัน สถานีอนามัยพระราชทาน นายโชคเอก พาณิชญากิจ นายกเทศมนตรีตำบลป่าซาง เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานโรงงานหลวงฯ ที่ 2 (แม่จัน) จ.เชียงราย

ดอยคำ โรงงานหลวงฯ ที่ 2 (แม่จัน) จ.เชียงราย จัดกิจกรรม 5ส Big Cleaning Day ประจำปี 2565

ดอยคำ โรงงานหลวงฯ ที่ 2 (แม่จัน) จ.เชียงราย จัดกิจกรรม 5ส Big Cleaning Day ประจำปี 2565

วานนี้ (วันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2565) บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน) จังหวัดเชียงราย ได้จัดกิจกรรม 5ส Big cleaning day ประจำปี 2565 นำโดย นางสาวธนมนพร เตชะตน ผู้จัดการโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และพนักงาน ร่วมแรงร่วมใจทำความสะอาด พื้นที่บริเวณภายในและรอบโรงงานหลวงฯ เช่น สำนักงาน เครื่องจักร และจุดปฏิบัติงานอื่นๆ ของแต่ละหน่วยงาน อีกทั้งมีการร่วมใจกันซ่อมแซม ทาสีกำแพง บริเวณรอบโรงงานหลวงฯ ให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และสะอาดตา

10 ปี โซลาร์ รูฟท็อป พลังงานที่ดอยคำเลือก ต่อยอดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

10 ปี โซลาร์ รูฟท็อป พลังงานที่ดอยคำเลือก ต่อยอดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

“ดอยคำ” ในฐานะผู้ดำเนินกิจการที่มุ่งมั่นในการสร้าง นวัตกรรมที่ยั่งยืน (Sustainovatin) ในด้านสิ่งแวดล้อมเสมอมา มองในเรื่องของพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ด้วยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคารผลิต โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร หรือที่เรียกว่า “โซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop)”

ด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาด ไร้มลพิษ เป็นการลดผลกระทบส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

จากการปรับปรุงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร ในปี พ.ศ.2555 ทำให้มองเห็นศักยภาพของพื้นที่ว่างบนหลังคาอาคารผลิต ที่สามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งดูจากการเป็นบริเวณที่โล่งแจ้ง ปราศจากเงาของต้นไม้หรือเงาของวัตถุที่บดบังแสงอาทิตย์

ประกอบกับขณะนั้น ภาครัฐมีนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) ตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25 เปอร์เซ็นต์ ใน 10 ปี เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นหนึ่งในพลังงานหลักของประเทศ ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลและการนำเข้าน้ำมันได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
จึงเกิดโครงการนำร่อง (Pilot Project) การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา “โซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop)” โดยดอยคำเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งให้กับการไฟฟ้าฯ ราคาที่จำหน่ายออกไปนำกลับมาเป็นค่าไฟฟ้าในโรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย)

พร้อมกันนี้ ดอยคำได้จัดให้พื้นที่ชั้นดาดฟ้า และชั้น 3 ของอาคารผลิตนี้ เป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมด้วยนิทรรศการ ภาพถ่าย และเรื่องเล่าของโรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2523 ที่ทรงส่งเสริมการปลูกมะเขือเทศและมีพระราชดำริให้สร้างโรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) ขึ้นมา เพื่อนำผลิตผลมะเขือเทศจากเกษตรกรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จวบจนปัจจุบัน และเป็นสายการผลไม้อบแห้ง ข้าว ธัญพืช

โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร ได้ถูกออกแบบอย่างเรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอย และความเป็นธรรมชาติที่ไม่ต้องปรุงแต่งใดๆ มีความกลมกลืนกับชุมชนและภูมิสังคมโดยรอบ ซึ่งไม่เพียงเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร และแหล่งสร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพของดอยคำเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่นำพลังงานธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในคราวเดียวกัน เป็นไปตามนโยบายของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ที่พร้อมเดินหน้าในเรื่องของ วิถีสีเขียว (Living Green) นวัตกรรมที่ยั่งยืน (Sustainovatin) และชีวิตสัมพันธ์ (Social Diversity)

“ดอยคำ” ร่วมโครงการ Plastic Disclosure Project (PDP) เดินหน้าจัดการและลดพลาสติก ภายใต้โปรแกรมรักษาสิ่งแวดล้อมของ UN-EP

“ดอยคำ” ร่วมโครงการ Plastic Disclosure Project (PDP) เดินหน้าจัดการและลดพลาสติก ภายใต้โปรแกรมรักษาสิ่งแวดล้อมของ UN-EP

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้รับหนังสือรับรองในการเข้าร่วมโครงการ Plastic Disclosure Project (PDP) เพื่อการจัดการพลาสติกและการลดของเสีย ลดพลาสติกฟุตพริ้นท์ จากสมาคมการจัดการของเสีย (ประเทศไทย) หรือ SWAT ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Environment Programme (UN-EP)

โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ มีหน้าที่ประสานงานการตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของสมาชิกสหประชาชาติ  ก่อตั้งขึ้นโดย Maurice Strong ผู้อํานวยการคนแรก หลังจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ ในเมืองสตอกโฮล์ม เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2515 เป้าหมายเพื่อเป็นผู้นําส่งมอบความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การพัฒนาโซลูชั่นในหลากหลายประเด็น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการระบบนิเวศทางทะเลและภาคพื้นดิน การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว องค์กรยังพัฒนาข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เผยแพร่และส่งเสริมวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและช่วยให้รัฐบาลแห่งชาติของสมาชิกบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

ซึ่งเป็นไปตามที่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้เดินหน้าในการมุ่งสู่สังคมไร้ขยะ (Zero Waste) ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เพื่อความสุขที่ยั่งยืน (Sustainable Happiness) เสมอมา

สำหรับโครงการ Plastic Disclosure Project (PDP) เป็นการขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายให้เปิดเผยกระบวนการผลิต การใช้ประโยชน์ และการจัดการพลาสติกและขยะพลาสติก โดยจัดทำแบบสอบถามสำหรับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลาสติก ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจะทำให้ผู้ลงทุนรวมถึงตัวบริษัทฯ เริ่มคิดทบทวนถึงวิธีการลดต้นทุนการผลิตโดยการออกแบบใหม่และลดปริมาณการใช้วัตถุดิบ เพื่อที่จะช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะและลดผลกระทบต่อสุขภาพ

“ดอยคำ” พร้อมมีส่วนร่วมในการจัดการวงจรการใช้พลาสติก ตั้งแต่การออกแบบ การใช้ การลดของเสีย ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากผลิตภัณฑ์ และคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากองค์กร เพื่อความยั่งยืน

ดอยคำ โรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร ต้อนรับผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. และคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมชมโรงงานฯ และตรวจโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ

ดอยคำ โรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร ต้อนรับผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. และคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมชมโรงงานฯ และตรวจโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2564 บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร นำโดยนางยุภาภรณ์ เจริญสุข ผู้จัดการโรงงานหลวงฯ พร้อมเจ้าหน้าที่และพนักงาน ต้อนรับ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะฯ เข้าเยี่ยมชมโรงงานหลวงฯ พร้อมทั้งเข้าตรวจเยี่ยมโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ

โครงการดังกล่าว จัดขึ้นเนื่องจาก เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนว่างงานและบัณฑิตจบใหม่ไม่สามารถหางานทำได้ รวมถึงนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประชาชนที่ว่างงานย้ายกลับถิ่นฐานจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา นโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ดอยคำ โรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ มอบน้ำผลไม้เข้มข้น และน้ำดื่มดอยคำ กิจกรรม “โคก หนอง นา โมเดล”

ดอยคำ โรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ มอบน้ำผลไม้เข้มข้น และน้ำดื่มดอยคำ กิจกรรม “โคก หนอง นา โมเดล”

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2564 บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด นำโดย นายคฑาวุธ เลี่ยนเครือ ผู้จัดการโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และพนักงาน ประจำโรงงานฯ มอบผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้เข้มข้น และน้ำดื่มดอยคำ ให้กับโรงเรียนบ้านยาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนกิจกรรม "โคก หนอง นา โมเดล" ซึ่งกิจกรรมจัดขึ้น ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 3

โดยผลิตภัณฑ์ที่มอบ ได้แก่

– ผลิตภัณฑ์น้ำดื่มดอยคำ ขนาด 350 มล.

– ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้เข้มข้น ขนาด 500 มล.

– ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้เข้มข้น ขนาด 5,000 มล.

สำหรับ "โคก หนอง นา โมเดล" เป็นการประยุกต์ทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ตามภูมิสังคม และสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ อีกทั้งยังเป็นการทำให้ธรรมชาติจัดการตัวเอง โดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้สำเร็จเร็วขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม การพึ่งพาตนเอง สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน

“ดอยคำ” นำเสนอเรื่อง “รับเงินให้ปลอดภัย ห่างไกลการสูญหาย…”

“ดอยคำ” นำเสนอเรื่อง “รับเงินให้ปลอดภัย ห่างไกลการสูญหาย…”

บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดย สำนักตรวจสอบภายใน นำเสนอเอกสารควบคุมภายในปี 2564 ฉบับที่ 5 เรื่อง "รับเงินให้ปลอดภัย ห่างไกลการสูญหาย..." เป็นการกล่าวถึงขั้นตอนการรับเงินให้มีความชัดเจน เป็นระบบ และมีความปลอดภัย ซึ่งบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนที่ช่วยลดความสูญหายของเงิน ภายใต้การดำเนินงานของ "ดอยคำ

ผลิตภัณฑ์ตรา “ดอยคำ” ของโรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง)  ได้รับการรับรอง “การลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” (ฉลากลดคาร์บอน) อย่างต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์ตรา “ดอยคำ” ของโรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง) ได้รับการรับรอง “การลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” (ฉลากลดคาร์บอน) อย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (17 ธันวาคม พ.ศ.2564) บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้รับมอบโล่และเกียรติบัตร ฉลากลดคาร์บอน ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการผลิต เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ และได้รับการรับรอง ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ในงาน “พิธีมอบโล่และเกียรติบัตรฉลากสิ่งแวดล้อมและการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม” จากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ม.ส.ท) ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมี นายทวีศักดิ์ เลาหวิโรจน์ รองผู้จัดการใหญ่ (ด้านนวัตกรรมและการผลิต) เป็นผู้รับมอบเกียรติบัตร

ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ได้รับการรับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ น้ำดื่ม สตรอว์เบอร์รีอบแห้ง แก้วมังกรอบแห้ง และบ๊วยหวานอบนุ่ม โดยทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจาก โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับ ฉลากลดคาร์บอน คือ ฉลากที่แสดงระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศต่อหน่วย ผลิตภัณฑ์ โดยการประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA) หรือสินค้าตั้งแต่การจัดเตรียมวัตถุดิบ การผลิต การใช้ และการจัดการหลังการใช้ โดย LCA ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ โดยแสดงผลอยู่ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2-equivalent)

“ดอยคำ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพระดับสากล พร้อมการรักษาสิ่งแวดล้อม”

“ดอยคำ” ร่วมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 50 องค์กร ขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR

“ดอยคำ” ร่วมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 50 องค์กร ขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR

วานนี้ (16 ธันวาคม พ.ศ.2564) นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เข้าร่วมงานเพื่อประกาศการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ด้วยหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ในรูปแบบออนไลน์

ตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดย สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) โดยมี นายชาญณรงค์ พรดิลกรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร ดอยคำ เป็นตัวแทนเข้าร่วมงานในครั้งนี้ พร้อมกับ 50 องค์กร ภาครัฐ เอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล

โครงการนี้เป็นการศึกษาแนวทางการนำหลักการ EPR มาใช้ในบริบทของประเทศไทยเพื่อจัดการบรรจุภัณฑ์หลังจากใช้แล้วให้หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ชื่อ “PackBack Project…เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน” เพื่อยกระดับคุณภาพให้กับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว นำไปรีไซเคิลในโรงงานให้ได้คุณภาพที่ดีขึ้น และป้องกันไม่ให้บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลายไปเป็นขยะหรือหลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะทดลองใช้เครื่องมือ EPR ในการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทต่างๆ ทั้ง แก้ว กระดาษ กระป๋องอลูมิเนียม และพลาสติก

“ดอยคำ” พร้อมร่วมขับเคลื่อนบรรจุภัณฑ์ เพื่อความยั่งยืน