คณะนักวิจัยดอยคำ พบไวรัส strawberry latent ringspot virus (SLRSV) และ strawberry crinkle virus (SCV) ในสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ซึ่งเป็นต้นเหตุการเกิดโรคใบจุด และใบย่น ในพื้นที่เพาะปลูกเกษตรกร 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านหนองเต่า บ้านขอบด้ง ตำบลม่อนปิ่น และบ้านแม่งอนขี้เหล็ก ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ลงในวารสารเกษตร JOURNAL OF AGRICULTURE วารสารวิชาการของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 40 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2567
โดย นายนิวัฒน์ ขันโท ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมเกษตร กล่าวว่า “การค้นพบ เชื้อไวรัส SLRSV และ SCV ในพืชชนิดนี้ ดอยคำร่วมกับสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล และภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาและพัฒนาสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี รวมถึงผลิตต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รีปลอดโรคเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรเพาะปลูก ณ โรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช (LAB) ซึ่งพบปัญหาอาการใบจุด ม้วนงอ และย่น ทำให้ต้นสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 แคระแกร็น เป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้คุณภาพและผลผลิตสตรอว์เบอร์รีลดลง”
สำหรับโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช (LAB) ดอยคำ ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นจากนโยบายของ นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อใช้ในการศึกษา วิจัย และพัฒนา สายพันธุ์พืชเศรษฐกิจ ให้ได้ต้นพันธุ์พืชที่แข็งแรง ปลอดภัยโรค สำหรับเป็น ต้นพันธุ์ให้เกษตรกรในโครงการ และประชาชนที่สนใจนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเกษตรไทย
คณะนักวิจัยดอยคำ เริ่มศึกษาเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัส SLRSV และ SCV ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2564 เนื่องจากเชื้อไวรัสส่งผลกระทบกับเกษตรกรในพื้นที่ของ โรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ ทำให้ผลผลิตสตรอว์เบอร์รีมีปริมาณ และคุณภาพผลผลิตลดลง โดยในปี พ.ศ. 2564 เกษตรกรในระบบส่งเสริม ของบริษัทฯ ผลิตสตรอว์เบอร์รีผลสดได้เพียง 27.23 ตันต่อพื้นที่ปลูก 45 ไร่ ลดลงจากปี พ.ศ. 2561 ถึง 13.98 ตัน
ทั้งนี้ จากการตรวจหาเชื้อไวรัสในสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 จากแปลงเกษตรกร บ้านหนองเต่า บ้านขอบด้ง ตำบลม่อนปิ่น และบ้านแม่งอนขี้เหล็ก ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งหมด 175 ตัวอย่าง ด้วยเทคนิค RT-PCR และการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ ยืนยันการเข้าทำลาย เกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิด ได้แก่ strawberry latent ringspot virus (SLRSV) และ strawberry crinkle virus (SCV) ในตัวอย่างใบ ที่ไม่แสดงอาการของโรคเป็นส่วนใหญ่ และพบการเข้าทำลายร่วมกันของเชื้อไวรัสทั้งสอง ในตัวอย่างใบ ที่แสดงอาการของโรค งานวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นว่าการตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธีดังกล่าว มีความแม่นยำสูง เหมาะสมในการนำมาใช้สุ่มตรวจเชื้อไวรัสในสตรอว์เบอร์รี ที่ปลูกในพื้นที่กว้าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และลดความเสียหาย ด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิตสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80