พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) ตั้งอยู่ที่บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการศึกษาด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป และเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดําริในการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ถ้าพูดถึงที่มาของพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) ต้องย้อนกลับไปถึงการจัดสร้างโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและทุกข์ยากของราษฎรจากการถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา โดยในระยะแรกของการดำเนินงานของโรงงานหลวงฯ ที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ นั้น มีลักษณะเป็นเพียงรถยนต์ โดยดัดแปลงให้เป็นโรงงานเคลื่อนที่ ต่อมาได้ใช้อาคารของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นโรงงานชั่วคราว แล้วจึงได้มีการสร้างโรงงานหลวงฯ ที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ ขึ้นในบริเวณที่เป็นตลาดร่มเกล้าและสหกรณ์แม่งอนเดิม
เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม สร้างความเสียหายให้กับโรงงานหลวงฯ ที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ และพื้นที่โดยรอบอย่างมาก จนวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรพื้นที่ และโรงงานหลวงฯ ที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ เพื่อหารือกับคณะทำงานเรื่องแนวทางการฟื้นฟูโรงงานหลวงฯ ที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่
ภายหลังการหารือ เลขาธิการ กปร. แจ้งพระราชดําริ เรื่องการฟื้นฟูสภาพพื้นที่โรงงานหลวงฯ ที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ และชุมชนบ้านยาง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน จึงได้เป็นที่มาของพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) ในปัจจุบัน “เราจะเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต” โดยจะพัฒนาโรงงานหลวง และพื้นที่โดยรอบ ให้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ (A Platform for Learning Experience) ของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยคำนึงถึงองค์ประกอบทั้ง ๔ อย่าง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ โรงงานหลวง ชุมชนบ้านยาง และเว็บไซต์ เราจึงได้เห็นว่าที่นี่เป็นโรงงานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น กล่าวคือ เป็นโรงงานที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างดี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อาคารต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) มีการออกแบบให้นึกถึงสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน สถาปัตยกรรมมีรูปแบบที่เรียบง่าย เน้นใช้วัสดุและสีสันที่กลมกลืนกับธรรมชาติของป่าเขาและชุมชนรอบด้าน บริเวณโดยรอบของที่นี่ก็ตกแต่งไปด้วยต้นไม้นานาพรรณ และยังมีคลองแม่งอนอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์ จึงทำให้บรรยากาศผ่อนคลาย เงียบสงบ
ในส่วนของพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจมากมาย เช่น นิทรรศการจัดแสดงวัตถุสะสม อันเป็นสิ่งของจากชาวบ้านชุมชนบ้านยางบริจาคให้พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง), นิทรรศการจัดแสดงภาพถ่ายขั้นตอนกระบวนการผลิตของโรงงานหลวง, ภาพถ่ายสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นต้น
นอกจากนี้พื้นที่รอบข้างของพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) ยังเป็นชุมชน “บ้านยาง” ที่แสนอบอุ่น ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชาวบ้านส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนยูนนาน บรรยากาศภายในหมู่บ้านจึงยังคงมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมแบบจีนยูนนานหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะวัฒนธรรมอาหาร มีร้านค้าจำหน่ายอาหารจีนยูนนานให้ได้ลิ้มลองหลากหลายแบบ ที่นี่ถือได้ว่าเป็นแหล่งอาหารจีนยูนนานที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งของภาคเหนือเลยทีเดียว
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) ตั้งอยู่เลขที่ ๗๒ หมู่ ๑๒ ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๒๐ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. ไม่มีค่าธรรมเนียมเข้าชม หมายเลขโทรศัพท์ ๐๕๓ ๐๕๑ ๐๒๑
การเดินทาง จากจังหวัดเชียงใหม่มุ่งหน้าสู่อำเภอฝาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๗ ระยะทาง ๑๕๐ กิโลเมตร ถึงสามแยกอ่างขางเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก ๗.๕ กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้าย ข้าง โรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์ ๑ มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านยางอีกเพียง ๑.๕ กิโลเมตร