มนูญ หนุ่มชาวไทภูเขาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จากสถาบันราชภัฎเชียงใหม่ และเคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในเมืองใหญ่เพื่อตามหาความฝัน และอนาคตของเขาเฉกเช่นชายหนุ่มทั่วไป แต่เมื่อเขาได้ทดลองใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่สักพัก เขาพบว่าที่นั่นมีค่าครองชีพที่สูงลิ่ว ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนต้องใช้เงินทอง ไม่ว่าเขาจะประหยัด อดออม และเก็บหอมรอมริบเท่าใด เงินทองที่เหลืออยู่ก็น้อย พอใช้สำหรับเพียงเขาและครอบครัวเท่านั้น ไม่สามารถนำไปช่วยเหลือหรือพัฒนาหมู่บ้านเขาแต่อย่างใด ดั่งที่เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มเข้าศึกษาปริญญาตรี


และด้วยความคิดนี้จึงทำให้เขาตัดสินใจกลับบ้านเกิด หมู่บ้านหนองเต่า เพื่อหาหนทางทำกิน หลังจากที่กลับมาอยู่บ้านได้ไม่นาน มนูญได้ยินข่าวว่า เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ จากบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จะเข้ามาส่งเสริมการเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รีที่หมู่บ้านของพวกเขา มนูญรวบรวมเพื่อนพ้องในหมู่บ้านได้ ๙ คนและเข้าสู่โครงการเกษตรกรเครือข่ายกับดอยคำ จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลา ๔ ปี มนูญบอกเล่าให้ทุกคนฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า “ที่นี่ไม่เคยมีใครเข้ามาส่งเสริมเรื่องการเกษตรมาก่อน เมื่อได้รับโอกาสจากดอยคำ พวกผมที่เป็นกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษา จึงตั้งใจและพยายามอย่างเต็มที่ พวกเราตั้งใจที่จะทำกับโรงงานหลวงฯ กับดอยคำ ไม่ได้คิดแค่ว่าจะทำเพื่อจะขายสตรอว์เบอร์รีเพียงแค่วันนี้ พรุ่งนี้ พวกเราต้องการที่จะทำอย่างยั่งยืนตามรอยพ่อ บางครั้งผลผลิตอาจจะน้อยลง ไม่ได้มาตรฐานของดอยคำ เพราะสภาพดินฟ้าอากาศ แต่เราก็จะไม่ย่อท้อ เพราะโรงงานหลวงฯ ที่ ๑ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรเข้ามาดูแลพวกเราตลอด ถามสารทุกข์สุกดิบ เป็นเหมือนคนในครัวเดียวกัน ไม่เคยเอาเปรียบเกษตรกรอย่างพวกเราเลย จากวันแรกที่กลุ่มผมมีกัน ๙ คน วันนี้บ้านหนองเต่า เรามีเกษตรกรผู้เพาะปลูกถึง ๓๐ คนแล้วครับ อย่างบ้านหลังนี้ ผมสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ผมภูมิใจกับมันมาก นี่คือบ้านที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของผม เงินส่วนใหญ่จากการสร้างบ้านก็มาจากการปลูกสตรอว์เบอร์รีพรีเมียมคัดพิเศษส่งโรงงานหลวงฯ ที่ ๑ วันนี้ผมและครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หนุ่มสาวที่เคยออกไปทำงานในเมืองก็เริ่มกลับเข้ามาอยู่ที่นี่ มาอยู่กับครอบครัว และทำการเกษตร ทุกคนเริ่มเห็นแล้วว่าเราไม่จำเป็นต้องไปแสวงหา ดิ้นรนในเมืองหลวง อยู่ที่บ้านเราก็สามารถทำได้ โรงงานหลวงฯ ที่ ๑ ให้โอกาสเรา พวกเราจะตั้งใจทำให้ดีที่สุดครับ”
และนี่คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของดอยคำที่เรายังคงยึดมั่นอยู่เสมอ คือการทำให้เกษตรกรอยู่ดี และผู้บริโภคได้กินดี ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักทรงงานของพ่อ และเติบโตขึ้นเป็นชุมชนแห่งความสุขที่พ่อสร้างต่อไป
สนใจเรื่องเล่าดีๆ และข่าวสารจากดอยคำ สามารถติดตามได้ที่เพจดอยคำ https://www.facebook.com/DoikhamFP/
ดอยคำ เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทย


